นายแพทย์ เตือน แตงโมต้มน้ำตาล ช่วยรักษาโรคไต ไม่เป็นความจริง แถมเสี่ยงอีกหลายโรค

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึง กรณีโลกโซเชียลแห่แชร์เรื่อง “แตงโมต้มน้ำตาล” รักษาโรคไต โดยให้ต้มแตงโมไฟอ่อนผสมน้ำตาล ปั่นทิ้งไว้ 4-5 วัน จะได้น้ำตาลแตงโมกินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ว่า คำแนะนำในเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง นอกจากรักษาโรคไตไม่ได้แล้ว การกินน้ำตาลมากเกินพอดียังทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วน เบาหวาน และฟันผุ อีกด้วย

ในแตงโม 100 กรัม มีน้ำตาล 6-11 กรัม มีโพแทสเซียม 103-122 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 9-11 มิลลิกรัม และฟอสฟอรัส 10-14 มิลลิกรัม แล้วแต่ชนิดของแตงโม โดยปริมาณแตงโมที่แนะนำต่อวัน สำหรับคนปกติ คือ 8 ชิ้นพอคำ หรือ 170 กรัม สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสามารถกินผลไม้วันละ 1-2 ส่วน เช่น แตงโม 1 ส่วนเท่ากับ 6-8 ชิ้นพอคำ แต่หากเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ควรงดการกินแตงโม

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไตต้องควบคุมและจำกัดอาหารตามระยะของโรคไตเรื้อรัง ไม่กินอาหารที่มีโซเดียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัสมาก และต้องควบคุมอาหารตามคำแนะนำของแพทย์และนักกำหนดอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ต้องงดกินผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมปานกลางและสูง ได้แก่ แครอท, บล็อกโคลี่, ถั่วฝักยาว, ฟักทอง, มะเขือเทศ, ส้มโอ, องุ่น, แก้วมังกร, มะละกอ, ส้ม, ฝรั่ง, และ แตงโม เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ควรกินข้าวแป้งไม่เกิน 6 ทัพพีต่อวัน หลีกเลี่ยงข้าวกล้องและขนมปัง กินเนื้อสัตว์ ได้แก่ ไข่ขาว, เนื้อปลา, เนื้อไก่ และ เนื้อหมูไม่ติดมัน เป็นต้น โดยไตเรื้อรังระยะ 1-3 กินไม่เกิน 7 ช้อนโต๊ะต่อวัน ระยะที่ 4-5 ไม่เกิน 5 ช้อนโต๊ะต่อวัน ลดหวาน มัน เค็ม บริโภคน้ำตาล น้ำมัน ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน

“ควบคุมโซเดียม หลีกเลี่ยง น้ำปลา ซอสปรุงรส ผงชูรส อาหารหมักดอง เนื้อสัตว์แปรรูป ผัก ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ นม, ไข่แดง, ถั่ว, ชา และ กาแฟ เป็นต้น

อาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์, ยอดผัก, ใจผัก, หน่อไม้ และ หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด และควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ โรคนี้ใช้เวลารักษานาน ผู้ป่วยไม่ควรเพิ่ม ลด หยุดยา หรือซื้อยากินเอง เพราะอาจเป็นอันตรายได้”